การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย

เรามีความรู้เรื่อง การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย มาให้ท่านศึกษาดังต่อไปนี้ การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย จาก สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน

ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย โดย พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ
การทำแผนที่แบบตะวันตกโดยคนไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๑๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารช่างขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้นายเฮนรี อะลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) (ซึ่งเคยรับราชการสถานทูตอังกฤษ แล้วเข้ามารับราชการไทยเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์) เป็นหัวหน้า นายนาวาเอก ลอฟทัส (Lophtus) เป็นผู้ช่วย และมีหม่อมราชวงศ์ แดง(หม่อมเทวาธิราช) นายทัด (พระยาสโมสรสรรพการ) นายสุด (พระยาอุดรกิจพิจารณ์) และ หม่อมราชวงศ์แปลก (พระยาสากลกิจประมวล)ทั้ง ๔ นายนี้ เป็นนายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก ให้เข้ารับการอบรมฝึกหัดในหมวดทำแผนที่นี้
งานที่ได้ทำไป ได้แก่ การทำแผนที่บริเวณถนนเจริญกรุง บริเวณใกล้พระราชวัง และบริเวณปากอ่าวเพื่อการเดินเรือ และใช้เป็นแนวทางป้องกันทางทะเลด้านอ่าวไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ ทางรัฐบาลอังกฤษได้ขออนุญาตให้สถาบันการแผนที่อินเดีย เข้ามาทำการวัดต่อสายสามเหลี่ยมสายเขตแดนตะวันออกโดยเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เพื่อสร้างหมุดหลักฐานแผนที่ที่ภูเขาทอง (กรุงเทพ) และที่พระปฐมเจดีย์ (นครปฐม) และโยงต่อออกไปจนถึงบริเวณปากอ่าว เพื่อจะได้โยงยึดเข้าด้วยกันกับสายหมุดหลักฐานที่สถาบันการแผนที่อินเดียได้ทำเข้ามาทางทะเล สำหรับใช้ในการสำรวจแผนที่ทางทะเล มีนายร้อยเอก เอช. ฮิลล์ (H. Hill) เป็นหัวหน้ากองแผนที่ นายเจมส์ แมคคาร์ที เป็นผู้ช่วย และเป็นผู้นำระบบโครงข่ายสามเหลี่ยมเข้ามา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตและโปรดเกล้าฯ ให้นายอะลาบาสเตอร์ ดำเนินการให้นายแมคคาร์ทีได้เข้ามาทำงานกับรัฐบาลไทยภายหลังเสร็จงานของสถาบันการแผนที่อินเดีย

นายเจมส์ แมคคาร์ที ได้เริ่มเข้ารับราชการไทยเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้สังกัดสมุหพระกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในบังคับบัญชาของนายพันโทพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้บังคับการ
การทำแผนที่แบบตะวันตกในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่นายแมคคาร์ทีเข้ารับราชการไทย ได้ใช้หลักมูลฐานขนาดมิติทรงวงรี เอเวอเรสต์ ในการสำรวจทำแผนที่ตลอดมา ชื่อทรงวงรี "เอเวอเรสต์" มาจากชื่อของนายพันเอกเอเวอเรสต์นายทหารช่างชาวอังกฤษผู้เป็นหัวหน้าสถาบันการแผนที่อินเดียในสมัยที่อินเดียยังขึ้นกับอังกฤษ
การทำแผนที่ซึ่งได้จัดทำก่อนสถาปนาเป็นกรมแผนที่เริ่มแรกในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นการสำรวจสำหรับวางแนวทางสายโทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ และมะละแหม่ง (Moulmein) ผ่านระแหง (ตาก) ในการนี้นายแมคคาร์ทีได้ทำการสำรวจสามเหลี่ยมเล็กโยงยึดกับสายสามเหลี่ยมของอินเดียที่ยอดเขาซึ่งอยู่ทางตะวันตกของระแหงไว้ ๓ แห่ง งานแผนที่ที่ใช้สำรวจมีการวัดทางดาราศาสตร์และการวางหมุดหลักฐานวงรอบ (traverse)

เมื่อเสร็จงานสำรวจวางแนวทางสายโทรเลขแล้ว พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้มีรับสั่งให้นายแมคคาร์ทีดำเนินการตั้งโรงเรียนแผนที่ คัดเลือกนักเรียนจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จากจำนวน ๓๐ คน ใช้สถานที่เรียนที่ตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์)ซึ่งอยู่ในบริเวณพระราชวังบางปะอิน ใช้เวลาเรียนประมาณ ๓ เดือน แล้วย้ายกลับมากรุงเทพฯ คัดเลือกได้ผู้ที่จะเป็นช่างแผนที่ได้ ๑๐ คน เริ่มสำรวจทำแผนที่มาตราส่วนขนาดใหญ่บริเวณสำเพ็ง
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ นายแมคคาร์ทีได้รับคำสั่งให้ไปสำรวจทำแผนที่บริเวณลุ่มแม่น้ำตืน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง บริเวณต้นแม่น้ำตืนเป็นป่าไม้สักหนาแน่น ได้มีกรณีพิพาทเรื่องเขตระหว่างเชียงใหม่กับระแหง เกี่ยวกับ สิทธิการเก็บภาษีอากร เสร็จงานทำแผนที่รายนี้แล้ว ก็ต้องไปทำแผนที่กำหนดเขตแดนระหว่างรามัญ (มณฑลปัตตานี) กับเปรัค (อาณานิคมของอังกฤษ) ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๖ เวลานั้นได้รับรายงานมีการก่อการไม่สงบจากพวกฮ่อในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางราชการเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องมีการสำรวจทำแผนที่บริเวณที่เกิดความไม่สงบ

ในการไปทำงานแผนที่ครั้งนี้ มีนายเจ. บุช (J.Bush) และช่างแผนที่ไทย ๗ นาย เป็นกองทำแผนที่ และทางราชการได้จัดกองทหาร ๒๐๐ คน มีนายลีโอโนเวนส์(Leonovens) เป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมไปด้วย ทั้งคณะได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยทางเรือ ถึงสระบุรีแล้วเดินทางทางบกต่อไปถึงนครราชสีมา และเดินทางต่อไปผ่านพิมาย ภูไทสง และกุมภวาปีไปถึงหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขง จากหนองคาย ให้นายบุชเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง ส่วนนายแมคคาร์ทีเดินทางต่อไปยังเวียงจันทน์ก่อน แล้วต่อไปยังเชียงขวาง ผ่านเมืองฝางและเมืองจัน แล้วจึงล่องตามลำน้ำจันมาออกแม่น้ำโขงกลับมายังหนองคายอีก แล้วเดินทางต่อไปถึงหลวงพระบาง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้กำหนดการไว้ว่าจะอยู่ทำงานที่บริเวณนี้ในระหว่างฤดูฝน แต่นายบุชได้ล้มป่วยลงและได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖ เนื่องจากไข้พิษ ดังนั้นต้นเดือนกรกฎาคม นายแมคคาร์ ได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ
นายแมคคาร์ทีรับราชการได้ประมาณ ๒ ปีก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดลเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖
ภายหลังจากนั้นกองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) ช่างแผนที่จากสถาบันการแผนที่อินเดียเข้ามารับราชการไทย เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งเหมาะกับเวลาที่จะยกกองออกไปภาคเหนือ พระวิภาคภูวดลจึงได้ยกกองออกเดินทางในเดือนพฤศจิกายนมีนายคอลลินส์ไปด้วย และมีหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน

จากน่านไปหลวงพระบาง ได้แยกกองออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยนายคอลลินส์ และนายเรือโทรอสมุสเซน ไปทางบก อีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพระวิภาคภูวดล ไปทางท่านุ่น แล้วเดินทางทางน้ำไปบรรจบกันที่หลวงพระบาง

กลุ่มพระวิภาคภูวดลได้ผ่านเมืองจุก (หงสาวดี) มีทุ่งพื้นราบยาวประมาณ ๖x๑๐ ไมล์ล้อมรอบด้วยภูเขา มีภูเขาไฟ ๒ ลูก โผล่ให้เห็น ชื่อ ภูไฟใหญ่ และภูไฟน้อย พระวิภาคภูวดลได้แวะไปดูภูไฟใหญ่ มีทางขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ ทรงวงรี ขนาด ๑๐๐x๕๐ หลา ปากปล่องภูเขาไฟข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณ ๕๐ ฟุต เมื่อเอาเศษไม้แห้งใส่เข้าไปตามรอยแตกร้าวไม่ช้าได้ยินเสียงเหมือนไฟคุขึ้นมีควันออกมา และต่อมาเห็นไฟไหม้ขึ้นมาที่เศษไม้นั้น แต่ ที่รอยแตกร้าวอื่นจะเห็นมีแต่ควันขึ้นมา

เมื่อเดินทางต่อไปถึงท่านุ่น ริมแม่น้ำโขงกลุ่มของพระวิภาคภูวดลได้เดินทางทางน้ำไปพบกันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่หลวงพระบาง จากหลวงพระบาง กองแผนที่ได้เดินทางต่อไปยังทุ่งเชียงคำซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหารไทย กำลังทำการปราบพวกก่อการร้ายฮ่อ เมื่อเสร็จธุรกิจกับข้าหลวงที่กำลังทำการปราบฮ่อ ได้ยกกองทำแผนที่ไปที่หลวงพระบาง และทำการบุกเบิกสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณเหนือของแม่น้ำโขง และตะวันออกของหลวงพระบาง แล้วยกกองกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗

กองการแผนที่คงเป็นส่วนหนึ่งในสังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนถึงวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๘ จึงได้มีพระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นกรมทำแผนที่ แยกออกจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และมีพระวิภาคภูวดลเป็นเจ้ากรม กรมทำแผนที่เปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเป็นกรมแผนที่ทหารมาจนปัจจุบันนี้
ภายหลังตั้งกรม พระวิภาคภูวดลได้ขึ้นไปภาคเหนืออีกสองครั้ง เพื่อทำแผนที่ให้แก่กองทัพครั้งสุดท้ายไปที่เมืองเทิง ซึ่งอยู่ทางเหนือของหลวงพระบาง และเวลานั้นเป็นที่ตั้งกองทัพของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา) และได้กลับกรุงเทพฯ ปลาย พ.ศ. ๒๔๒๙

ปีต่อมารัฐบาลไทยได้ทำสัญญากับบริษัทพูชาร์ด (Puchard) ให้สำรวจแนวทางสำหรับสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ พระวิภาคภูวดลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาล ติดตามช่างของบริษัทที่ทำการนี้ด้วย ภายหลังเมื่อเสร็จงานนั้นแล้วมีนายช่างของบริษัทคนหนึ่งชื่อ สไมลส์ (Smiles) ได้เข้ามาสมัครทำงานที่กรมแผนที่

ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ มีงานแผนที่สำคัญที่ต้องทำ เป็นงานสำรวจทำแผนที่กำหนดเขตแดน ระหว่างไทยกับพม่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

ได้มีการเริ่มทำแผนที่สามเหลี่ยมบริเวณภาคเหนือ ตั้งต้นที่เชียงใหม่ วัดโยงยึดติดต่อกับโครงข่ายการสามเหลี่ยมภาคตะวันออกของสถาบันการแผนที่อินเดีย มีการวัดเส้นฐานที่ทุ่งนาเมืองเชียงใหม่ (และมีการทำแผนที่ด้วยโซ่และเข็มทิศในบางภาคของมณฑลพายัพด้วย) นายสไมลส์ซึ่งได้เข้ารับราชการกรมแผนที่ได้ร่วมทำงานการสามเหลี่ยมครั้งนี้ด้วย โดยตั้งต้นที่เชียงขวางไปถึงหลวงพระบาง วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงเทศาจิตวิจารณ์ (ภายหลังเป็นพระยามหาอำมาตย์) ได้รับคำสั่งให้กลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหาร มีการตั้งกระทรวง และทางราชการได้ให้ไปรับตำแหน่งทางกระทรวงมหาดไทย งานแผนที่สามเหลี่ยมได้ดำเนินไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระวิภาคภูวดลได้รับคำสั่งได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทางฝ่ายฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนซึ่งกองแผนที่ได้สำรวจไว้แล้วทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำโขง พระวิภาคภูวดลได้ยกกองกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

ในระหว่างฤดูสำรวจ พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๓๗ ได้มีการทำแผนที่การสามเหลี่ยมออกจากกรุงเทพฯ ไปทางจันทบุรี และมีการทำแผนที่ภูมิประเทศ โดยโซ่และเข็มทิศในต่างจังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับทำแผนที่ประเทศไทย

นายอาร์ ดิบบลิว กิบลิน (R.W. Giblin) ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้ากรมแผนที่ ได้เข้ารับราชการไทยเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๗ ทางกรมแผนที่ได้พยายามจะต่อสายสามเหลี่ยมให้โยงยึดเข้าด้วยกันกับสายสามเหลี่ยม ซึ่งได้จัดทำไปแล้วทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูสำรวจ พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๓๘ แต่มีอุปสรรคบางประการจึงต้องเลิกล้มความตั้งใจนั้น

พระวิภาคภูวดลได้ให้นายกิบลินและนายสไมลส์ไปทำการแผนที่จากเสียมราฐถึงบาสสักที่บาสสักได้มีการวัดทางดาราศาสตร์หาลองจิจูดของบาสสัก ใช้วิธีโทรเลขและการวัดทางดาราศาสตร์หาเวลาอย่างละเอียดระหว่างกรุงเทพฯ กับบาสสัก ระหว่างที่ไปทำการแผนที่ครั้งนี้ นายสไมลส์ได้ป่วยเป็นโรคบิด ถึงแก่กรรมที่บ้านจันและได้มีการฝังศพไว้ที่สังขะ เมื่อสิ้นฤดูสำรวจนายกิบลินได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ

การรวบรวมข้อมูลและการเขียนแผนที่ประเทศไทยได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จและจัดพิมพ์ขึ้นได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ภาษาอังกฤษได้พิมพ์ที่ลอนดอน เพราะเวลานั้นกรมแผนที่ยังไม่มีเครื่องมือพิมพ์ดีพอที่จะทำงานนี้สำเนาฉบับต่อมาจึงได้พิมพ์ที่กรมแผนที่
Powered by MakeWebEasy.com